True leasingTrue leasing

Hidden Gems

Ayutthaya

วัดบรมพุทธาราม

อายุมากกว่า 340 ปี สร้างโดยสมเด็จพระเพทราชา เดิมหลังคาวัดมุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลืองที่ราคาสูง เป็นสิ่งแปลกใหม่ในยุคนั้น ชาวบ้านจึงเรียกขานกันว่า วัดกระเบื้องเคลือบ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ ลพบุรี งดงามวิจิตรสมเป็นวัดหลวง ไฮไลท์อยู่ที่พระอุโบสถและพระปรางค์ทรงฝักข้าวโพด

วัดกระชาย

วัดกระชาย หรือวัดกระซ้าย สันนิษฐานว่าเป็นวัดที่สร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๑ อาจจะเป็นวัดสมัยเดียวกันหรือใกล้เคียงกันกับวัดสามปลื้ม วัดสุวรรณาวาส วัดนางคำ วัดจงกลม วัดหลังคาขาว และวัดพระรามที่อยู่บริเวณทุ่งขวัญ เพราะต่างมีเจดีย์ซึ่งมีรูปแบบคล้ายกัน กล่าวคือเจดีย์ทรงสูง ก่ออิฐไม่สอปูน ฐานแปดเหลี่ยม ระฆังกลม บัลลังก์แปดเหลี่ยม ข้างในกลวง 

วัดส้ม

เป็นวัดขนาดเล็กตั้งอยู่ติดกับคลองท่อ (คลองฉะไกรใหญ่) ทางด้านทิศตะวันตก ไม่ปรากฏหลักฐานทางด้านเอกสารเกี่ยวกับประวัติการสร้างวัด สิ่งก่อสร้างที่สำคัญภายในวัด ได้แก่ ปรางค์ประธาน วิหาร และเจดีย์ราย จากการศึกษาโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมที่เป็นปรางค์ก่ออิฐและมีการทำทับหลัง รวมทั้งลวดลายปูนปั้นประดับองค์ปรางค์วัดส้ม พบว่ามีวิวัฒนาการมาจากโครงสร้างและลวดลายในสถาปัตยกรรมเขมรซึ่งมีอายุการสร้างอยู่ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 แสดงให้เห็นว่าปรางค์ประธานวัดส้มนั้นน่าจะได้รับการสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาโดยมีอายุเก่ากว่าปรางค์องค์อื่นๆ ในสมัยอยุธยาตอนต้น

วัดเตว็ด

วัดเตว็ด เป็นวัดร้างตั้งอยู่ทางทิศใต้นอกตัวเกาะเมืองอยุธยา บริเวณริมคลองปทาคูจาม (คลองคูจามหรือคลองประจาม) ในเขตพื้นที่ตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ห่างจากวัดพุทไธศวรรย์ไปทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ ๕๐๐ เมตร โบราณสถานสำคัญภายในวัดประกอบด้วยอุโบสถ, วิหาร และเจดีย์แปดเหลี่ยม รูปแบบศิลปะมอญ ลักษณะรูปแบบแผนผังของวัดวางตัวในแนวทิศตะวันออก - ตะวันตกตามทิศทางของลำคลองปทาคูจาม แต่ปัจจุบันซากที่หลงเหลืออยู่เด่นชัดสุด คือ ผนังสกัดหน้า ซึ่งเหลืออยู่เพียงด้านเดียว

ประตูช่องกุด

ประตูช่องกุด หรือ ช่องกุด เป็นประตูขนาดเล็กเจาะเป็นช่องตามแนวกำแพงเมืองไปตลอดโดยรอบทั้ง 4 ทิศ ใช้สำหรับคนเดินเข้าออก มีลักษณะช่องโค้งปลายแหลม กว้าง 2 เมตร สูง 2.5 เมตร ซึ่งเป็นขนาดพอที่คนเดินเข้าออกได้ และหากช่องกุดมีอยู่ตามป้อมปราการ ก็เป็นช่องสำหรับใช้ตั้งปืนใหญ่ ซึ่งสมัยอยุธยารุ่งเรืองมีช่องกุดเป็นจำนวนมาก บริเวณช่องกุดต่างๆสันนิษฐานได้ว่าคงเป็นแหล่งค้าขาย หรือตลาดสำคัญที่มีอยู่รอบเมืองอยุธยา

สะพานดินสอ

ตั้งอยู่ในบริเวณเดียววัดบรมพุทธาราม เป็นสะพานโบราณเพียงไม่กี่แห่งที่ยังคงหลงเหลือให้ยลความสวยงาม ขนาดไม่ใหญ่สร้างเพื่อข้ามคลองฉะไกรน้อยไปชุมชนป่าดินสอซึ่งเคยเป็นตลาดขายดินสอและเครื่องเขียนในอดีตกาล สะพานสร้างแข็งแรงก่อด้วยอิฐแดงสลับเป็นลายก้างปลาซุ้มใต้สะพานโค้งเป็นรูปกลีบบัว สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลจากตะวันตก สามารถเดินขึ้นไปโพสบนสะพานหรือยืนด้านหน้าสะพานให้ฉากหลังเห็นพื้นน้ำ ซุ้มกลีบบัวและท้องฟ้า

สะพานวานร

สะพานวานร คลองประตูเทพหมี เป็นสถานที่ที่โอบล้อมไปด้วยประวัติศาสตร์และเรื่องราวน่าค้นหา ตั้งอยู่ระหว่างคลองประตูจีนและคลองฉะไกรน้อย และเชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศใต้และคลองฉะไกรน้อยที่หักมุมไปทางทิศตะวันออกทางทิศเหนือ ลำคลองนี้ไม่เพียงแต่เป็นส่วนหนึ่งของระบบน้ำในอดีตของกรุงเก่าแต่ยังเป็นสักขีพยานที่เล่าถึงความรุ่งเรืองของพระนครศรีอยุธยา ด้วยความกว้างประมาณ 10-12 เมตร คลองนี้มีขนาดที่ใหญ่กว่าคลองสายอื่นๆ ถึงสองเท่า ซึ่งทำให้มีความพิเศษไม่เหมือนใคร